เมื่อ ตท.22 ยึดเหล่าทัพ
ภาพอดีต ก็หวนกลับ
จาก จปร.5 สู่ เตรียมทหาร6
จาก รสช.สู่ คมช.
รุ่นเดียวกัน ใช่จะรัฐประหาร เสมอไป
อยู่ที่ ผบ.ทบ.และ ทบ.
ยุค “ทหารคอแดง” ปฏิวัติ ไม่ง่าย
หลัง 1 ตุลาคม 2565 ผบ.เหล่าทัพ จะเข้าสู่ยุคของ เตรียมทหาร 22 ทั้ง ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. และ ผบ.ตร. จนทำให้จับตามอง ว่า ประวัคิศาสตร์ จะซ้ำรอยหรือไม่ ยิ่งสถานการณ์ทางการเมือง นับจากนี้กำลังร้อนแรง และเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของ อำนาจ “3ป.”
บิ๊กบี้ พลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ แกนนำ ตท.22 เป็น ผบ.ทบ. คอแดง และมา 2 ปีแล้ว กำลังจะเข้าปีที่ 3 ปีสุดท้ายก่อนเกษียณ
หลังจากที่โดนเขย่าเก้าอี้มาตลอดว่าจะโดนเด้ง โดนเปลี่ยนตัวมาเป็น บิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผช.ผบ.ทบ. น้องรักทหารเสือราชินีฯของนายกฯบิ๊กตู่ ขึ้นเลย
แต่ พลเอกณรงค์พันธ์ ออกมาสยบข่าวลือด้วยตนเองว่า เป็นแค่การคาดการณ์ แถมตบท้าย ด้วยการชื่นชมยกย่อง บิ๊กตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นำ แบบอย่างชายชาติทหาร ที่ยอมรับในคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ หมดยุคปฏิบัติหน้าที่นายกฯ
ขณะที่ กองทัพเรือ นั้น บิ๊กจอร์จ 4 ช. พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผช.ผบ.ทร. ตท.22 ขึ้น ผบ.ทร.คนใหม่
ส่วน กองทัพอากาศ บิ๊กป้อม พล.ต.อ.ธนศักดิ์ เมตะนันท์ รองผบ.ทอ. สมาขิก ตท.22 ก็ถูกคาดหมายว่า จะขึ้นเป็น ผบ.ทอ.คนใหม่ แถมมีอายุราชการ 2 ปี
แม้จะมีกระแสข่าวสะพัดหนักใน ทอ. ว่าอาจมีรายการ พลิกโผ ขึ้นได้ โดยเฉพาะ อาจกลายเป็นชื่อของ บิ๊กตุ๊ด พล.อ.อ. อลงกรณ์ วัณณรถ ผช.ผบ.ทอ. ขึ้นมาเป็น ผบ.ทอ. ก็ได้ ก็ตาม ซึ่ง พล.อ.อ. อลงกรณ์ ก็เป็น ตท.22 เช่นกัน แต่อายุราชการ เหลือปีเดียว
ขณะที่ บิ๊กเด่น พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตคิประภัสร์ รอง ผบ.ตร. จะได้เป็น ผบ.ตร.คนใหม่ หลังจากที่ บิ๊กป้อม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรักษาการนายกฯ นั่งหัวโต๊ะประชุม กตช. อนุมัติแล้ว นั้น ก็เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่น 38 และเตรียมทหาร รุ่นที่ 22
แต่ ผบ.ทหารสูงสุด เป็นรุ่นพี่ ตท.21 บิ๊กแก้ว พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ เป็นทหารม้า ที่สุขุม นิ่งเงียบ แต่เด็ดขาด ที่จะนั่งต่อ ผบ. ทหารสูงสุด คอแดง เป็นปีที่ 3 ปีสุดท้าย ก่อนเกษียณ
ส่วน ปลัดกลาโหม คนใหม่ เป็น น้องเล็กสุด ตท.24 บิ๊กหนุ่ม พลเอก สนิธชนก สังขจันทร์ ที่ขึ้นมาจาก รองปลัดกลาโหม แถม นั่งยาว 3 ปี เกษียณ 2568
สูตรอำนาจ ผบ.เหล่าทัพ แผงใหม่ จึงเป็นตท.24-21-22-22-22-22
จนทำให้เกิดเสียงวิจารณ์คาดการณ์กันว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย เมื่อ ผบ.เหล่าทัพ รุ่นเดียวกัน
เช่นในอดีต ยุค จปร.5 หรือ 0143 ที่ผบ.เหล่าทัพเป็น จปร 5 นายเรือ 01 และ นาบเรืออากาศ01 สี่เหล่า สามทัพ
ที่มี บิ๊กสุ พลเอก สุจินดา คราประยูร เป็น ผบ.ทบ. บิ๊กตุ๋ย พลเอก อิสระพงศ หนุนภักดี เพื่อนรัก จปร.5 และพี่ภรรยา เป็น รอง ผบ.ทบ. พลเริอเอก ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ เป็น ผบ.ทร. และ บิ๊กเต้ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล เป็น ผบ.ทอ.
ขณะที้ บิ๊กจ๊อด พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ผบ.ทหารสูงสุด เป็น รุ่นพี่ จปร.1 ที่มาเป็นหัวหน้ารัฐประหาร 23 กพ.2534 ในฐานะ แขกรับเชิญ ที่แผงอำนาจ จปร.5 ให้เกียรติ เป็นหัวหน้า รสช. ในฐานะนรุ่นพี่ และเป็น ผบทหารสูงสุด แต่กำลังที่วางแผนปฏิวัติ คือ จปร.5 “สุ-ตุ๋ย-เต้”
มาสู่ ยุค บิ๊กบัง พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็น ผบ.ทบ. นำรัฐประหาร 19 กย.2549 โดยมี แผงอำนาจ ผบเหล่าทัพ เป็น เตรียมทหารรุ่น 6 ทั้ง บิ๊กอุ๊ พลเรือเอก สถิรพันธ์ เกยานนท์ ผบ.ทร. และ บิ๊กต๋อย พล.อ.อ. ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. ในนาม คมช.
ส่วน ที่ มานั่งแถลง เป็นพระอันดับ แต่ไม่ได้ร่วมวางแผนรัฐประหาร ไม่ได้จบเตรียมทหารคือ พล.ต.อโกวิท ภักดีภูมิ ผบ.ตร. ส่วน บิ๊กต๋อย พลเอก เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผบ.ทหารสูงสุด เตรียมทหาร 5 ในเวลานั้น ถูกมองเป็น ฝั่ง ทักษิณ ชินวัตร นายกฯในเวลานั้น จนเกือบจะตั้ง บก.ต้านปฏิวัติ แต่ถูก กำลัง คมช. นำกำลังล้อมไว้เสียก่อน จนไม่ได้ร่วมเข้าเฝ้าฯ ในคืนนั้น แต่ก็มานั่งร่วมแผง แถลง
มาถึง รัฐประหารล่าสุด 22 พ.ค.2557 ในนาม คสช. ที่นำโดย บิ๊กตู่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในเวลานั้น ที่วางแผนพร้อม เพื่อน นตท.12 ใน ทบ.
และเชื่อกันว่า งานนี้ พี่น้อง 3 ป. ร่วมปรึกษาหารือกันด้วย เพราะไม่มีทางที่พลเอกประยุทธ์ จะคิดการใหญ่คนเดียว เพราะความผูกพันกัน
แม้ต่อมา พลเอกประวิตร จะปฏิเสธว่าตนเอง และบิ๊กป๊อก พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผบ.ทบ. ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร เพราะ พลเอกประยุทธ์ ทำเพียงคนเดียว ก็ตาม
ส่วน ผบ.เหล่าทัพ ในเวลานั้น ก็ไม่ใช่เพื่อ นตท.12 ของ พลเอกประยุทธ์ แต่เป็น บิ๊กเข้ พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. จาก ตท.13 เช่นเดียวกับ บิ๊กจิน พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ.และบิ๊กโอ๋ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.
จึงอาจเรียกได้ว่า ผบ.เหล่าทัพ ตอนนั้น เป็น ตท.13 มากกว่า ตท.12 แต่ทว่าพลเอกประยุทธ์ และฝ่ายทหารบกเป็นกำลังหลักในการวางแผนรัฐประหาร
ส่วน ผบ.ทหารสูงสุด ในเวลานั้น แม้จะเป็น บิ๊กเจี๊ยบ พลเอกธนศักดิ์ ปฏิมาปกรณ์ เพื่อนเตรียมทหาร 12 ของพลเอกประยุทธ์ ก็ตาม แต่ทว่าไม่ได้มีส่วนร่วมในการวางแผนรัฐประหาร
อีกทั้ง วันที่ก่อการ พลเอกธนศักดิ์ ก็อยู่ต่างประเทศ จนต้องรีบกลับมารายงานตัว จึงจะเห็นในแผงอำนาจที่แถลงข่าวมีบิ๊กตี๋ พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพื่อน ตท.12 นั่งแทน
ส่วน ปลัดกลาโหม ตอนนั้น บิ๊กแป๊ะ พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก รุ่นน้อง ตท.14 ที่เป็น สายตรง นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในเวลานั้น ไม่ได้ร่วมรัฐประหาร เพราะถูกมองว่า อยู่คนละฝ่าย หลังยึดอำนาจ พลเอกประยุทธ์ก็สั่งย้าย พลเอกนิพัทธ์พ้นปลัดกลาโหม ทันที
ดังนั้น การจะรัฐประหาร หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ ผบ.เหล่าทัพ รุ่นเดียวกัน เป็นเพื่อนกันเรียนด้วยกันมาสนิทสนม คุยกันง่าย เอาไงเอากัน แล้วจะรัฐประหารกันง่ายๆ
แต่อยู่ที่ตัว ผบ.ทบ. ผู้จะเป็นกำลังหลักในการก่อการรัฐประหาร ว่า มีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน กล้าหรือไม่ สถานการณ์เอื้ออำนวยหรือไม่ เพราะการวางแผนยึดอำนาจจะต้องเป็นความลับที่สุดและรู้น้อยที่สุดเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องและก็มักจะเป็นในแวดวงทหารบก เท่านั้น เพราะยิ่งรู้มาก ข่าวก็ยิ่งรั่ว
จริงอยู่ว่าการเมืองหลังการเลือกตั้ง ในปีหน้า 2566 ไม่มีอะไรแน่นอน หากมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจ เปลี่ยนรัฐบาล อาจจะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นบ้าง ที่จะมีการก่อม็อบสร้างสถานการณ์ ก่อการจลาจล เพื่อเปิดทางให้ทหารออกมายึดอำนาจ
แต่ทว่า การรัฐประหารในยุคสมัยนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะหน่วยที่ได้ชื่อว่าเป็นขุมกำลังรัฐประหารในอดีต ก็ล้วนถูกย้ายโอนไปเป็นหน่วยในพระองค์ และ เป็นทหารคอแดงหน่วยที่ขึ้นตรงกับ ฉก.ทม.รอ.904 หมดแล้ว
อีกทั้ง ฉก.ทม.รอ.904 มีนโยบายที่จะไม่เอา” ทหารคอแดง”มาทำหน้าที่ ในการรักษาความสงบเรียบร้อย (ร้อย รส,)ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมือง
รวมทั้งรถถัง และอาวุธหนักของหน่วยขุมกำลังที่อยู่ในกรุงเทพ ก็ได้ถูกโยกย้ายไปไว้หน่วยนอกกรุงเทพฯ เกือบหมดแล้วคงเหลือแต่ รถสายพานลำเลียงพล อันเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้การรัฐประหารไม่ใช่เกิดขึ้นๆง่ายเช่น แต่ก่อน
แต่ก็ไม่มีใครการันตีได้ว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีกแต่ทว่า ในรูปแบบอาจเปลี่ยนไป ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
——-