พลเรือตรี ณัฐพงศ์ เกตุสมบูรณ์ โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย เปิดเผยว่า พลเอก พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด สั่งการ ให้หน่วยในกองทัพไทย เตรียมการช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มขีดความสามารถ
กรณี พายุไซโคลน “อำพัน” มีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเบงกอลตอนบนและประเทศบังคลาเทศ
ส่งผลทำให้ในระหว่างวันที่ 18-20 พฤษภาคม 2563 จะมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี และนครศรีธรรมราช
และประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง การเริ่มต้นฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ.2563 ฤดูฝนของประเทศไทยในปีนี้ เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2563
โดยให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองบัญชาการกองทัพไทย ประสานการปฏิบัติร่วมกับศูนย์บรรเทาสาธารณภัยเหล่าทัพในการประเมินความเสี่ยงและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
และให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาซึ่งมีชุดบรรเทาสาธารณภัยเคลื่อนที่เร็วทั่วทุกภูมิภาคของประเทศประสานการปฏิบัติกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอย่างใกล้ชิดเพื่อพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีในกรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
ทั้งนี้ ให้มีการดำเนินการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้พี่น้องประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเตรียมจัดชุดเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเตรียมความ
พร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น
ตลอดจนการวางแผนการอพยพประชาชนในกรณีฉุกเฉิน, การวางแผนเส้นทางการจราจรเมื่อถูกตัดขาด, การเปิดเส้นทางการจราจร, การตัดกิ่งไม้ที่ล้มทับอาคารบ้านเรือน, การซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างและบ้านพักอาศัยของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้ทันต่อสถานการณ์เพื่อลดความเสียหายและอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้อย่างทันท่วงที
โดยในระยะแรกของการเข้าสู่ฤดูฝนจะมีปริมาณและการกระจายของฝนไม่สม่ำเสมอ แต่จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ฤดูฝนปีนี้จะมีฝนมากกว่าปีที่แล้วแต่ปริมาณฝนรวมทั้งประเทศจะต่ำกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5 สำหรับฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม ส่วนภาคใต้จะมีฝนตกต่อไปอีกถึงกลางเดือนมกราคม ปีหน้า
สำหรับการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยแล้งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศในห้วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนั้น กองบัญชาการกองทัพไทย มอบหมายให้หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา โดยสำนักงานพัฒนาภาค 1-5 ซึ่งได้ดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาล จำนวน 168 บ่อ การแจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค จำนวน 33,834,400 ลิตร
รวมทั้งงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ได้แก่ การสร้างอ่างเก็บน้ำ ฝายทดน้ำ ขุดลอกคลอง หนอง บึง และสระเก็บน้ำในไร่นา จำนวน 64 แห่ง รวมผู้ได้รับผลประโยชน์ 125,891 ครัวเรือน จำนวนทั้งสิ้น 348,417 คน และจะดำเนินการต่อไปจนกว่าจะจบภารกิจ